เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 1 นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น เมื่อทั้งสองกำลังแบ่งกันอยู่ โรงเก็บของตกเป็นสมบัติของบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใส ต่อมา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย
แล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “เชิญท่านทั้งหลายออกไป โรงเก็บของเป็นสมบัติของกระผม”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับบุรุษนั้นดังนี้ว่า “เธออย่า
ได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของเธอถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันว่า ถวาย ไม่ได้ถวาย จึงพากันไปฟ้องพวกมหาอมาตย์
ผู้พิพากษา
พวกมหาอมาตย์ถามว่า “แม่เจ้า มีใครบ้างที่พอจะรู้เห็นเป็นพยานได้ว่า
โรงเก็บของเขาถวายภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
เมื่อพวกมหาอมาตย์กล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้กล่าวกับพวกมหา
อมาตย์ดังนี้ว่า “พวกท่านเคยเห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่า เมื่อจะถวายทานจะต้องมี
พยานด้วย”
พวกมหาอมาตย์ตอบว่า “แม่เจ้ากล่าวจริง” จึงตัดสินมอบโรงเก็บของให้
ภิกษุณีสงฆ์ไป
บุรุษนั้นแพ้คดี จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “หญิงชั่วหัวโล้นเหล่านี้
ไม่ใช่สมณะหญิง ไฉนจึงให้ผู้พิพากษาริบโรงเก็บของของเราเล่า”
ภิกษุณีถุลลนันทาบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์ได้
ปรับสินไหมเขา บุรุษนั้นถูกปรับจึงให้สร้างที่พักอาชีวก1 ไว้ใกล้ที่อยู่ภิกษุณีแล้วสั่ง
อาชีวกว่า “พวกท่านจงช่วยกันพูดตะโกนใส่ภิกษุณีเหล่านี้”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์
สั่งให้จับบุรุษนั้นจองจำไว้ พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ครั้ง
แรกพวกภิกษุณีให้เจ้าหน้าที่ริบโรงเก็บของ ครั้งที่ 2 ให้ปรับสินไหม ครั้งที่ 3 ให้
จองจำ คราวนี้เห็นทีจะสั่งฆ่า”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “อาชีวก” เป็นคำเรียกนักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล (ดู
ทีฆนิกาย สีลขันวรรค แปล 9/167-169/54-56)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :26 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 1 สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
ชอบก่อคดีพิพาทเล่า” ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นผู้ชอบ
ก่อคดีพิพาท จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเป็นผู้ชอบก่อ
คดีพิพาทเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[679] ก็ภิกษุณีใดก่อคดีพิพาทกับคหบดี กับบุตรคหบดี กับทาส หรือ
กับกรรมกร โดยที่สุดกระทั่งกับสมณปริพาชก ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือ
สังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ1
เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[680] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ” เป็นชื่อเฉพาะของธรรมคืออาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องในทันทีที่ล่วงละเมิด
โดยไม่มีการสวดสมนุภาสน์ และภิกษุณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต้องถูกไล่ออกจากภิกษุณีสงฆ์ (วิ.อ. 2/
679/471)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :27 }